top of page

อะไรคือห้องเรียน 1 ต่อ 1 ?

Writer's picture: Pruksapan B.Pruksapan B.

Updated: Apr 17, 2019


หนังสือที่เลือกมาอ่านในสัปดาห์นี้คือหนังสือที่มีชื่อว่า Power Up: Making the Shift to 1:1 Teaching and Learning เขียนโดย Diana Neebe และ Jen Roberts


โดยส่วนตัวแล้วก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่รู้เลยว่า 1:1 คืออะไร นั่งเดาๆเอาว่ามันอาจจะแปลว่าการสอนแบบครูหนึ่งคนต่อนักเรียนหนึ่งคน แต่จริงๆแล้ว 1 ต่อ 1 ที่ว่าคือรูปแบบการสอนที่นักเรียนหนึ่งคนใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง

Diana Neebe และ Jen Roberts ผู้เขียนหนังสือเป็นคุณครูสอนวิชาภาษาอังกฤษและสังคมศึกษาที่มีความเชื่อมั่นว่าวิธีการสอนรูปแบบ 1:1 นี้สามารถนำเอาไปปรับใช้ได้ในหลายๆวิชา


หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือคู่มือให้กับคุณครูระดับมัธยมและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยากทดลองใช้รูปแบบการสอนแบบ 1:1 ได้อย่างดี เพราะนอกจากผู้เขียนจะแนะนำเทคนิคต่างๆในการใช้เทคโนโลยีในหนังสือแล้วผู้อ่านยังสามารถเข้าไปติดตามเทคโนโลยีที่ผู้เขียนกล่าวถึงในหนังสือได้ทางเวบไซต์ pluginpowerup.com ถ้าผู้อ่านเกิดสงสัยว่าเทคโนโลยีที่คุณครูไดอานาและคุณครูเจ็นเขียนถึงมีหน้าตาอย่างไร ใช้อย่างไร ก็สามารถคลิกเข้าไปดูในเวบไซต์ได้เลยทันที


วิธีการถ่ายทอดประสบการณ์ของครูไดอานาและครูเจ็นในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก เรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการสอน การแบ่งปันประสบการณ์เป็นเหมือนเรื่องเล่าที่ผู้เขียนทั้งสองคน"เล่าสู่กันฟัง" เนื้อหามีความน่าสนใจและเข้าใจง่าย ไม่ได้ใช้ภาษางานเขียนวิชาการที่อ่านเข้าใจยากและไม่มีชีวิตชีวา


ทั้งครูไดอานาและครูเจ็นได้เข้าร่วมอบรมกับ Google Teacher Center และได้รับใบประกาศจาก Google ด้วยความจริงข้อนี้ผู้อ่านบางท่านอาจจะเข้าใจว่าคุณครูทั้งสองคนคงจะแนะนำแอพพลิเคชั่นต่างๆของกูเกิลเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วครูทั้งสองแนะนำแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายสำหรับรายวิชาและการสอนที่แตกต่างกันไป


สำหรับชื่อหนังสือ Power Up: Making the Shift to 1:1 Teaching and Learning (เปิดเครื่อง: เปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง) ค่อนข้างชวนให้คิดว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้น่าจะมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน หรืออาจจะอยู่ในโลกอุดมคติที่คิดว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นของที่ทุกคน"ต้องมี" ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วการมีเทคโนยีใช้นั้นถือว่าเป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่ง


เมื่ออ่านหนังสือไปแล้วก็จะพบว่าผู้เขียนทั้งสองมีทัศนคติเชิงบวกกับการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียนจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันคุณครูทั้งสองก็ค่อนข้างตระหนักถึงเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีของนักเรียนด้วย ทั้งสองจึงให้คำแนะนำกับคุณครูหรืออาจารย์ที่ต้องการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องต่อนักเรียนหนึ่งคนว่าควรจะเช็คก่อนว่านักเรียนมีเทคโนโลยีประเภทไหนหรือมีอินเตอร์เน็ตใช้หรือไม่ ถ้านักเรียนไม่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ที่บ้านครูก็ควรจะมองหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนทำการบ้านให้เสร็จที่โรงเรียน หรือครูอาจจะต้องให้เวลามากกว่าปกติเมื่อสั่งการบ้านที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงาน หรือคุณครูอาจจะต้องเปิดห้องคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนให้นักศึกษาใช้เวลาพักเที่ยง


เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ถ้านักเรียนไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ที่บ้านจะทำอย่างไร นอกจากให้คำแนะนำว่าครูควรช่วยนักเรียนอย่างไรแล้ว คำตอบสุดท้ายที่ครูไดอานาและครูเจ็นตอบคือ "นักเรียนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้จะล้าหลังกว่าเพื่อน" การตอบคำถามเช่นนี้ไม่ได้ให้ทางออกกับคุณครูหรือโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดหาเทคโนโลยีให้กับนักเรียนทุกคนได้อย่างเพียงพอ สิ่งที่คาดหวังว่าคุณครูทั้งสองคนนี้จะตอบคือการให้คำแนะนำว่ารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องต่อนักเรียนหนึ่งคนนั้นจะเกิดขึ้นได้ในสภาพที่โรงเรียนมีเทคโนโลยีอย่างจำกัด หรือในสภาพที่นักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือราคาไม่แพงอย่างไร


ในบทนำของหนังสือมีการใช้คำว่า democratizing force (พลังประชาธิปไตย) เมื่อพูดถึงการจัดการเรียนการสอนแบบ 1:1 คุณครูผู้เขียนทั้งสองหวังว่าพลังนี้จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศ(อเมริกา) ทั่วทุกทวีป และทั่วโลก

4 views0 comments

Comments


Subscribe Form

©2019 by TELL. Proudly created with Wix.com

bottom of page